Cold Chain Logistics (การขนส่งห่วงโซความเย็น)

28/07/2020

Cold Chain Logistics คือ ระบบการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ เพื่อรักษาคุณภาพสินค้า ยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค และลดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ การบริการคลังสินค้า และให้บริการขนส่งสินค้า

เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง การบริการคลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ และการบริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ พบว่า ในส่วนของธุรกิจคลังสินค้ามีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยสูงกว่าธุรกิจขนส่งมากถึง 15% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้จากค่าเช่าพื้นที่มีอัตราสูงขึ้นมากราว 5% ต่อปี ในขณะที่ต้นทุนหลักคือค่าไฟฟ้ากลับมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย

โดยทั่วไป การเช่าคลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ มี 2 รูปแบบ คือ การเช่าระยะยาว 3 ปีขึ้นไป และการรับฝากชั่วคราว ในช่วงปี 2013-2017 การเช่าแบบระยะยาว 3 ปีขึ้นไป มีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยสูงถึง 40% และมีการเติบโตของรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 27% ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ลงทุนในการติดตั้งสายพานลำเลียง ระบบจัดเก็บสินค้า และจ้างแรงงานเอง ส่งผลให้มีความได้เปรียบในด้านต้นทุน และจัดการพื้นที่คลังสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีผู้เล่นน้อยรายเพราะเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นสูง และมีระยะเวลาคืนทุนที่ค่อนข้างนาน ในขณะที่ การเช่าแบบชั่วคราวมีการเติบโตของรายได้เฉลี่ยสูงถึง 160% แต่ให้อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยค่อนข้างต่ำเพียง 15% เนื่องจากต้องมีการขนถ่ายสินค้าอยู่เสมอ ทำให้มีต้นทุนคือค่าแรงงานที่ค่อนข้างสูง

การให้บริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ มี 2 รูปแบบ คือ การให้บริการส่วนใหญ่ (> 70 %) แก่คู่ค้าธุรกิจ และการให้บริการลูกค้าทั่วไป โดยแบบที่มีคู่ค้าทางธุรกิจจะมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 24% เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการเส้นทางการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพช่วยลดต้นทุนการให้บริการ ในขณะที่แบบลูกค้าทั่วไปมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 6%

อย่างไรก็ดี อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยของการให้บริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากธุรกิจนี้ใช้เงินลงทุนไม่สูงมากนัก ผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้ไม่ยาก และการขนส่งสินค้าส่วนใหญ่มีการเจรจาสัญญาใหม่ทุก 1 ปี จึงส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง มีการตัดราคาค่าบริการ อีกทั้งผู้ประกอบการต้องรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันที่มีสัดส่วนราว 30%-40% ของต้นทุนการให้บริการขนส่ง

จากการศึกษาข้างต้น สามารถประเมินได้ว่า กลยุทธ์สำคัญของธุรกิจ Cold Chain Logistics คือ การสร้างพันธมิตรทางการค้ากับผู้ผลิตสินค้า ร้านค้าปลีกชั้นนำ และร้านอาหารแฟรนไชส์ จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีฐานลูกค้าที่แน่นอนและมีโอกาสที่จะได้รับรายได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการสร้างพันธมิตรมักพบเห็นในรูปแบบการร่วมทุนและการร่วมมือพัฒนาเครือข่ายการให้บริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในหลายมิติ อีกกลยุทธ์หนึ่ง คือ การทำสัญญาระยะยาว 3 ปีหรือมากกว่า เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถวางแผนการดำเนินงานธุรกิจ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าการลงทุน และควบคุมต้นทุนการดำเนินงานได้ รวมทั้งสามารถเพิ่มมูลค่าของการใช้ประโยชน์คลังสินค้าและรถขนส่ง

Cold Chain Logistics มีการขยายตัวขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ อาหารทะเล อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์จากนม โดยในปี 2017 มีสัดส่วนการใช้เพียง 2 % ของตลาดโลจิสติกส์ทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็น 5 % ในปี 2018 และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องราว 8% CAGR ในอีก 3 ปีข้างหน้า (2019-2022) โดยมีปัจจัยหลักจากการส่งออกผลไม้ไปยังตลาดจีนที่เติบโตแบบก้าวกระโดด การกลับมาฟื้นตัวของการส่งออกอาหารทะเลจากการปลดล็อคใบเหลือง IUU Fishing รวมถึงการขยายสาขาอย่างรวดเร็วของธุรกิจร้านสะดวกซื้อและแฟรนไชส์ร้านอาหาร

จีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการบริโภคผลิตภัณฑ์แช่เย็นและแช่แข็ง นม โยเกิร์ต ไอศกรีม และผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ ในปริมาณที่มากและเพิ่มขึ้น ญี่ปุ่นมี Cold Chain Logistics อยู่แทบทุกซอกมุม และมีบริการเทคโนโลยีการแช่แข็งและละลายอย่างรวดเร็ว

เมื่อเร็วๆ นี้ญี่ปุ่นและประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ตกลงที่จะดำเนินโครงการโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นระหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Cold Chain Logistics Project) โดยใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่น

โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10% ของค่าใช้จ่ายด้านการขายทั้งหมด เมื่อความต้องการด้านโลจิสติกส์ปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบ Cold Chain ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและเม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง ทั้งการก่อสร้างคลังสินค้า การจัดซื้อรถขนส่งสินค้า รวมถึงการลงทุนด้าน IT ในการควบคุมระบบความเย็นให้เสถียร เป็นผลให้กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มหันมาใช้ผู้ประกอบการ Cold Chain Logistics ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาบริหารจัดการมากขึ้น เพื่อลดขั้นตอนการทำงานและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์

Cold Chain Logistics สำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มพบมากใน 2 รูปแบบ ได้แก่
1) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจับมือกับธุรกิจโลจิสติกส์ จัดตั้งบริษัท Cold Chain Logistics ให้บริการกับบริษัทในเครือ แล้วจึงขยายไปสู่ลูกค้าทั่วไป
2) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มใช้บริการ Cold Chain Logistics จาก outsource ซึ่งให้บริการเกี่ยวกับ Cold Chain Logistics

ท้ายสุด ความท้าทายของธุรกิจนี้อยู่ที่ ความแตกต่างของอุณหภูมิที่ใช้สำหรับสินค้าแต่ละประเภท การขออนุญาตขนส่งและจัดเก็บอย่างถูกต้อง กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย เช่น ฉลากประวัติอุณหภูมิ RFID ของสหรัฐอเมริกา ข้อบังคับ Good Distribution Practice ของสหภาพยุโรป ซึ่งล้วนแต่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงขึ้น รวมถึงมาตรการทางการค้าของต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซียจำกัดการนำเข้าพืชสวน อีกทั้ง การแข่งขันของผู้ให้บริการ เนื่องจากผู้ให้บริการ Cold Chain Logistics ที่ได้มาตรฐานยังมีไม่มากนัก จึงเป็นที่จับตามองเพื่อสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจ

ที่มา J GoodTech
        ธนาคารไทยพาณิชย์
        Economic Intelligence Center (EIC)

Counter: 10362

Articles About this