ทรัพยากรธรรมชาติหมดสิ้น สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ช่วยกันพลิกวิกฤตโลก ด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิต เป็นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

01/08/2020

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ปัจจุบัน โลกมีประชากร 7,700 ล้านคน  อีก 31 ปี (ค.ศ. 2050) จะเพิ่มขึ้นเป็น 9,700 ล้านคน   และอาจถึง 11,000 ล้านคนในช่วงปลายศตวรรษนี้ได้ ในขณะที่ ภาวะโลกร้อน ภาวะขาดแคลนอาหาร ภาวะขยะล้นเมือง และปัญหาของโลกอีกมากมาย เกิดขึ้นทั่วโลกแล้วอย่างรวดเร็ว ถึงเวลาหรือยัง ที่พวกเราจะร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ด้วยระบบแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และเศรษฐกิจหมุนเวียน

              “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) อาจเป็นคำใหม่สำหรับหลายๆ คน แต่ความหมายและวิธีการไม่ได้หนีไปจากคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพ่อหลวงของเรา นั่นคือ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการหมุนเวียนนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ ทั้งแบบ การนำมาเข้ากระบวนการผลิตใหม่ (Re-material / Recycle) หรือการใช้ซ้ำ (Reuse)

              ย้อนกลับไป150 ปีก่อน สมัยยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทรัพยากรธรรมชาติยังเบ่งบาน การบริโภคเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราบริโภคทรัพยากรกันแบบบ้าระห่ำ หรือที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจเส้นตรง’ (Linear Economy) คือ การถลุงทรัพยากร (Take)  นำมาผลิตของกินของใช้ (Make) กินใช้เสร็จก็ทิ้งเป็นขยะ (Dispose)

              การถลุงทรัพยากรมาใช้อย่างบ้าระห่ำนั้นเองกระมัง ที่เป็นที่มาของภาษาพูดที่ว่า “ถลุง คือการใช้อย่างล้างผลาญ เช่นคำเปรียบเปรยที่ว่า ถลุงเงินพ่อแม่” แต่ปัจจุบัน เราไม่มีทรัพยากรให้ถลุงอีกแล้ว เฉกเช่นเดียวกับ อาชีพวิศวกรเหมืองแร่ที่เคยอู้ฟู่ก็ดับพับไปทรัพยากรที่แทบจะสูญสิ้นไปจากแผ่นดิน

              ปัจจุบัน หลายคน หลายองค์กร ให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงเป็นที่มาของคำว่า “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” เปลี่ยนจากแนวเส้นตรงใช้แล้วทิ้ง มาเป็นแบบหมุนเวียน นำของเสียกลับมาเป็นวัตถุดิบ
                                                             

              ถึงเวลาแล้วที่ ผู้ผลิตจะต้องลงมือทำ และรัฐคอยผลักดัน ให้ผู้บริโภคต้อง “เปลี่ยน”

              การเปลี่ยนเช่นนี้ อาจกระทบต้นทุนในตอนแรก แต่หากผู้ผลิตมีความตั้งใจจริง และสื่อสารให้ผู้บริโภครู้ว่าคุณให้คุณค่ากับสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน จะมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่เข้าใจ และยินดีรับกับราคาที่เพิ่มขึ้น หรือปริมาณที่ลดลง ความสำเร็จของธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมิได้ประเมินค่าที่ตัวเลขยอดขายหรือผลกำไรเท่านั้น แต่ยังวัดด้วยคุณค่าที่มิอาจประเมินเป็นราคาได้

หลัก 7 ประการของ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

  1. ใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
    นั่นคือการ
    Design Thinking เมื่อเลิกใช้สินค้านั้นแล้ว จะดัดแปลงนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้อีก ตัวอย่างเช่น
    Apple  ให้ลูกค้ามาเปลี่ยนมือถือทุกปี ซึ่งมือถือที่ใช้แล้วก็จะถูกนำไปแยกชิ้นส่วน และนำมากลับมาใช้ใหม่ได้เกือบทั้งหมด
     Ikea     ให้คุณไปประกอบเฟอร์นิเจอร์เองที่บ้าน เพื่อลดขั้นตอนการขนส่ง และประหยัดพื้นที่
     น้ำทิพย์  เปลี่ยนขวดพลาสติกให้ย่อยง่ายขึ้น ประหยัดพื้นที่ลง ใช้เนื้อพลาสติกน้อยลง
  2. ใช้พลังงานให้น้อยที่สุด และพลังงานนั้นต้องมาจากทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
    ใช้พลังงานที่มีมากในท้องถิ่น การขนย้ายพลังงานจากท้องถิ่นอื่นมาใช้เป็นการสูญเสียพลังงานในการขนส่งเพิ่มขึ้น
  3. รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการไม่ทำลายสิ่งมีชีวิตอื่น
    ตัวอย่างเช่น การลดการระบาดของหนอนผีเสื้อด้วยนกกระจอก แล้วนกกระจอกขยายตัวอย่างรวดเร็ว กินผีเสื้อ ทำลายดอกไม้ และทำลายนกท้องถิ่นจนสูญพันธุ์
  4. อนุรักษ์วัฒนธรรมและชุมชน
    ตัวอย่างเช่น ธุรกิจเข้ามาใช้แรงงานในท้องถิ่น ก็ยังต้องอนุรักษ์วัฒนธรรมและความเชื่อของคนในพื้นที่
  5. ไม่ทำลายความเป็นอยู่และสุขภาพของสิ่งมีชีวิตใดๆ
    ไม่ปล่อยสารพิษที่จะทำลายธรรมชาติหรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ตัวอย่างเช่น หากมีการเผาแล้วก่อให้เกิดควันพิษ ต้องคิดค้นวิธีการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดสารพิษมิใช่แก้โดยการไปเผาในที่ที่ไม่มีคน
  6. ไม่วัดทุกอย่างด้วยตัวเลข แต่วัดด้วยคุณค่าทางจิตใจ
    คุณค่าบางอย่าง เช่น ความเชื่อ ศาสนา ความรู้สึก ของลูกค้า พนักงาน แรงงาน เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน
  7. ระบบทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนได้
    ตัวอย่างเช่น Rubber Killer แบรนด์ที่ผลิตสินค้าจากยางในของรถยนต์ เมื่อมีคนรู้ว่ายางในสามารถสร้างเงินได้ แล้วโก่งราคาวัตถุดิบ หรือ รถยนต์เลิกใช้ยางแบบเดิม ก็ต้องปรับเปลี่ยนวัตถุดิบได้

 ที่มา : SCB EIC, ellenmacarthurfoundation และ anteagroup

 

 

 

https://marketeeronline.co/archives/4371
https://www.allaroundplastics.com/article/sustainability/1898

 

Counter: 3600

Articles About this