ทิศทางของตลาดอีคอมเมิร์ซไทย

02/08/2020

จากสถานการณ์โควิด19 ผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น โดยมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2020 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นจากปีก่อน 35% อาจพุ่งสูงถึง 220,000 ล้านบาท จากปีก่อน 163,300 ล้านบาท (ข้อมูลจาก Priceza) และ สัดส่วนมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเฉพาะ B2C  และ C2C ในปี 2019 พบว่าช่องทาง E-Marketplace เป็นช่องทางที่ผู้บริโภคนิยมใช้ในการซื้อของออนไลน์ในสัดส่วนมากขึ้น จากปี 2018 อยู่ที่ 35% เติบโตมาเป็นสัดส่วนมากถึง 47% ในปี 2019 (ข้อมูลจาก ETDA)

1. ตลาด e-Commerce เข้มข้นกว่าเดิม

สินค้าจากประเทศจีนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนด้านแรงงานต่ำ จึงมีราคาต่อชิ้นต่ำกว่าสินค้าไทยเป็นเท่าตัว ยิ่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการค้าเสรี (Free Trade) และจีนมีการปรับตัวเรื่องการจัดส่งสินค้าจากที่เคยใช้เวลารอสินค้าเกือบเดือน ก็เริ่มปรับจนสั้นลงเหลือ 7-14 วัน สินค้าจากประเทศจีนอยู่ใน JSL Marketplace (JD, Shopee, Lazada) มากกว่า 77% หรือประมาณ 135 ล้านชิ้น จากผู้ขายเพียง 81,000 ราย ในขณะที่มีสินค้าของไทยเพียงแค่ 23% หรือประมาณ 40 ล้านชิ้น  จากผู้ขาย 1 ล้านราย

2. ปรับกลยุทธ์เน้นการเข้าถึงลูกค้าโดยตรง (Direct to Customers)

จากที่ JSL เคยเปิดให้ผู้ขายลงขายสินค้ากันอย่างง่ายดาย แถมโปรโชั่น ลด แลก แจก แถม กันแบบสุด ๆ จนผู้บริโภคเสพติดการซื้อของออนไลน์ ตอนนี้ JSL เริ่มคิดค่าบริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งจากผู้ขายและผู้บริโภค ผู้ขายหลายรายจึงหันมาสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง เช่น เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นเอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย และยังได้ข้อมูลว่าลูกค้าดูอะไร สนใจสิ่งไหน เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการขายต่อไป อีกทั้งเพิ่มความใกล้ชิดกับลูกค้า เป็นการสร้าง Customer Loyalty ให้กับธุรกิจอีกด้วย

3. แบรนด์ออฟไลน์หันเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันนี้แทบจะไม่มีธุรกิจที่ขายอยู่ช่องทางเดียวแล้ว เพราะการขายช่องทางออนไลน์นั้นเป็นการขายที่ไม่มีขีดจำกัด ไม่ต้องผ่านตัวกลาง นอกจากจะได้กำไรมากขึ้น ยังได้ข้อมูลลูกค้าเพื่อมาทำการตลาดในอนาคตได้อีกด้วย ปัจจุบันนี้เห็นได้จากหลาย ๆ แบรนด์ที่ทำสินค้าแบบ Limited หรือ Exclusive จะสามารถซื้อได้จากทางแบรนด์เองเท่านั้น

4. การแข่งขันของธุรกิจโลจิสติกส์

ยิ่งร้านค้าหันมาขายสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น ธุรกิจการจัดส่งสินค้าก็จะโตตามด้วยเช่นกัน นอกจากจะแข่งกันด้านเวลา ค่าใช้จ่าย แล้วยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการแจ้งหรือตรวจสอบสถานะสินค้าได้แบบ Real-Time ผ่านทางมือถือด้วย

5. บริการ Fulfillment “เก็บ แพ็ค ส่ง” เติบโต

ผลจากการที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ชขยายตัวอย่างมาก ผู้ประกอบการจึงหันมาใช้บริการ Outsource จัดการทั้งในเรื่องของสถานที่จัดเก็บ การดูแลสต๊อก การแพ็คอย่างมีคุณภาพ และการจัดส่งอย่างรวดเร็ว ซึ่งนี่จะเป็นโอกาสของผู้ให้บริการ Fulfillment ที่จะเข้ามาดูแลและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในบริหารจัดการ “เก็บ แพ็ค ส่ง” สินค้าให้อย่างครบวงจร

ที่มา       https://www.mycloudfulfillment.com/trend-ecommerce-2020/
         https://www.smartsme.co.th/content/233800
         https://techsauce.co/news/priceza-thailand-e-commerce-market-2020

Counter: 3418

Articles About this